ประเภทของแบบวัด

การคัดสรรบุคลากรเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก เพราะหากองค์กรมีวัตถุดิบที่ดี ก็ย่อมจะเอื้อต่อศักยภาพโดยรวมขององค์กร ตัวอย่าง เช่น มหาวิทยาลัยดังๆ ย่อมได้เปรียบในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพราะนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเรียน เป็นกลุ่มที่มีต้นทุนสูงพร้อมที่จะพัฒนาอยู่แล้วในทุกด้าน

การใช้แบบวัดหรือข้อสอบจึงเป็นเครื่องมือง่าย ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพมาก ซึ่งหลายครั้งที่ไปพบลูกค้าแล้วลูกค้าถามว่า มีแบบวัดที่วัดแล้วรู้ได้ไหมว่าคน ๆ นี้เหมาะที่จะทำอะไร ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่า องค์กรส่วนใหญ่ต้องการแบบวัดแบบลักษณะนี้จริงหรือไม่ และแบบวัดต่าง ๆ สามารถจำแนกได้กี่แบบ

ผู้เขียนขอจำแนกแบบวัดตามใจฉัน คือ จำแนกตามความเข้าใจของตนเอง ดังนี้

หนึ่ง แบบวัดทักษะหรือความรู้ เป็นแบบวัดที่วัดได้ง่ายและชัดเจนที่สุด เช่น เราอยากรู้ว่า ช่างคนนี้เชื่อมเหล็กเป็นหรือไม่ ก็ให้ลองเชื่อมเหล็กดู

อยากรู้ว่าทักษะภาษาอังกฤษเป็นอย่างไรก็ให้สอบทั้งทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ก็จะสามารถรู้ได้ว่าเขาจะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีเพียงไร

อยากรู้ว่าเขียนโปรแกรมเป็นหรือไม่ ก็ลองให้สอบข้อเขียนหรือลองให้เขียนโปรแกรมนั้น ๆ ดู

คะแนน GPA คณะ และมหาวิทยาลัยที่ผู้สมัครงานสำเร็จการศึกษามา ก็เป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งบอกว่าผู้สมัครงานคนนั้น มีความรู้อะไรบ้าง

บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งบอกผู้เขียนว่า บริษัทให้ความสำคัญกับคะแนน GPA น้อย แต่ให้ความสำคัญกับแบบวัดที่แสดงตัวตนภายในจริง ๆ มากกว่า เพราะคะแนน GPA เป็นการบอกเพียงมิติเดียวว่า อดีตและปัจจุบันมีความรู้อะไร เท่าไร แต่ไม่ได้บอกศักยภาพการเรียนรู้ในภายภาคหน้า เพราะการเรียนรู้ในห้องเรียนแตกต่างกับการเรียนรู้ในโลกของการทำงาน

นอกจากนี้ คะแนน GPA ยังไม่ได้บอกว่าเขาหรือเธอเป็นคนที่มีทัศนคติสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรหรือไม่

สอง แบบวัดความถนัด IQ หรือแบบวัดความถนัดทางปัญญา หรือเชาวน์ปัญญาทางการเรียนรู้ เป็นแบบวัดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประเมินความสามารถทางปัญญาของบุคคล ซึ่งบ่งบอกถึงศักยภาพที่คน ๆ นั้นจะสามารถเรียนรู้งานได้เร็วแค่ไหน เรียนรู้สิ่งใหม่ได้หรือไม่ สร้างสรรค์งานได้ดีเพียงใด

คนที่มีตรรกะดี มีความสามารถทางปัญญาในการวิเคราะห์ จำแนกและประมวลรูปแบบเป็นแนวคิดด้านต่าง ๆ จะสามารเรียนรู้และเสริมสร้างงานต่าง ๆ ได้ดี

สาม แบบวัดเจตคติ เจตคติ คือ ท่าทีหรือความรู้สึกของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง EQ หรือแบบวัดเชาวน์อารมณ์ เป็นแบบวัดเจตคติที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการประเมินปัจจัยหลักในด้านความสามารถของบุคคลในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น และในการจัดการอารมณ์ของตนเองกับผู้อื่น ทั้งนี้ แบบวัด EQ หลาย ๆ ชุด ก็จะมีการวัดปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานให้ประสบความสำเร็จ เช่น ความยืดหยุ่นในการวางแผน แรงจูงใจในการทำงาน ความอดทนต่อความเครียด เป็นต้น

นอกจากองค์กรต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการวัด EQ แล้ว หลาย ๆ องค์กรจะใช้แบบวัดเจตคติด้านอื่น ๆ ด้วย บางองค์กรให้ความสำคัญในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากที่สุด ในขณะที่บางองค์กรให้ความสำคัญในเรื่องความมุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรค

สี่ แบบวัดบุคลิกภาพ แบบวัดบุคลิกภาพจะออกแบบมาแตกต่างกับแบบวัดที่กล่าวมาแล้วทั้งสามแบบ กล่าวคือ แบบวัดที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ผู้สร้างแบบวัดได้กำหนดเนื้อหา นิยาม และวัตถุประสงค์ของตัวแปรที่มุ่งวัด แล้วจึงสร้างข้อคำถามเพื่อใช้วัดเนื้อหา นิยาม และวัตถุประสงค์ของตัวแปรที่มุ่งวัดนั้น ๆ

แต่แบบวัดบุคลิกภาพ จะเป็นการสร้างข้อคำถามจำนวนมาก เพื่อที่จะค้นหาตัวตนของผู้ที่ถูกว่าเป็นคนประเภทใด เหมาะที่จะทำอาชีพใด หรือควรมอบหมายใดประเภทใด จึงจะสามารถดึงศักยภาพภายในคน ๆ นั้นออกมาได้มากที่สุด ตามวลีที่ว่า “put the right man on the right job” หรือในทางกลับกัน “put the right job on the right man” ก็ได้

แบบวัดบุคลิกภาพ มีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนของเรา ควรวัดตั้งแต่ชั้นประถมหรือมัธยม เพราะยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งจะมีโอกาสส่งเสริมจุดแข็งให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และการที่ใครก็ตามได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือถนัด นอกจากจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้เขาและเธอเหล่านั้นมีความสุขจริง ๆ ในชีวิตด้วย

อย่างช้าที่สุดของการวัดบุคลิกภาพก็ควรทำก่อนที่เยาวชนของเราจะตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์ สายศิลป์ หรือสายอาชีพ และไม่ควรเอาแค่ความสูงต่ำของคะแนนมาเป็นเกณฑ์ในการเลือกเรียนสายต่าง ๆ หรือเลือกคณะ เข้ามหาวิทยาลัย

การต้องเลือกทางชีวิตเมื่อต้องเลือกคณะ ในการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้วางแผนและตระเตรียมผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของคณะต่าง ๆ ทำให้บ่อยครั้งก็สายเกินไปเสียแล้ว

แต่ที่น่าเศร้าใจมากกว่านั้นก็คือ ระบบการศึกษาบ้านเรา ให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อยมาก นักศึกษาจำนวนมากใช้เวลาสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อจะค้นพบสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ แต่ยังค้นไม่พบในสิ่งที่ตัวเองชอบ